Articles by: admin

สิ่งที่ควรคำนึง ในการเลือกผู้รับเหมาก่อสร้าง

หากคุณกำลังมีแพลนจะซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน สิ่งที่คุณจะต้องนึกถึงเป็นสิ่งแรกๆ ก็คือ ผู้รับเหมา ที่ใครหลาย ๆ คนมักจะคิดว่าการหาผู้รับเหมาดี ๆ สักเจ้า จะมองว่าเป็นเรื่องยากก็ยาก จะมองว่าเป็นเรื่องง่ายก็ง่าย ใครกำลังมองหาผู้รับเหมาที่ไว้ใจได้อยู่นั้น อาจจะกำลังสงสัยว่าหลาย ๆ บ้าน มีวิธีการเลือกอย่างไร เราก็มีเทคนิคดี ๆ ในการเลือกผู้รับเหมามาฝากกัน

1. ผลงาน
ในการเลือกผู้รับเหมาต่าง ๆ สิ่งแรกที่เรานึกถึงก็คือ ผลงาน เพราะคงไม่มีใครที่อยากจะได้ช่างที่ไม่เชี่ยวชาญมาร่วมงานกันใช่ไหมเอ่ย…ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ จะต้องเคยผ่านงานมาก่อนอยู่แล้ว เรียกว่าผลงานมาก ประสบการณ์ก็มากตาม นอกจากนี้เราจะดูเพียงแค่ผลงานผ่านรูปภาพอย่างเดียวก็ไม่ได้ หากมีผลงานที่มาในรูปแบบวีดีโอ หรือที่เห็นจากสถานที่จริง ก็จะทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นนั่นเอง

2. บ้านข้างเคียงเคยใช้บริการมาก่อน
หตุผลต้น ๆ ของการเลือกผู้รับเหมานั้น คือ การที่เราได้เห็นผลงานจากบ้านข้างเคียง หรือในละแวกเดียวกัน เรียกว่าเป็นเหตุผลที่ใคร ๆ หลายคนเลือกเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะการที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันนั้น จะทำให้เราได้เห็นถึงผลงาน เห็นวัสดุที่ใช้ ระยะเวลาการทำงานของผู้รับเหมา รวมไปถึงหากมีปัญหาเกิดขึ้น เราก็สามารถที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนบ้านของเราได้อย่างโดยตรง รวมไปถึงผู้รับเหมาที่สนใจ มีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง เราก็จะรู้ข้อมูลเบื้องต้นเพื่อนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการเลือกผู้รับเหมาเจ้านี้

3. งบประมาณ
ก่อนที่เราจะหาผู้รับเหมา เราจะต้องตั้งงบประมาณในงานอยู่ที่เท่าไหร่เสียก่อน ลองหาข้อมูลและคำนวณคร่าว ๆ ก่อนเรียกผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาตีราคา โดยงบประมาณจะสูงหรือต่ำ มักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบของงาน บริเวณที่ตั้ง วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ที่มีคุณภาพ ระยะเวลาในการทำงาน รวมไปถึงสภาพอากาศก็ส่งผลถึงงบประมาณอีกด้วย4. ราคารับเหมาต่องาน ที่ถูกจนเกินไป
หลังจากที่ตั้งงบประมาณ ศึกษาข้อมูลไปแล้วนั้น เมื่อเรียกผู้รับเหมาเข้ามาตีราคา หากมีราคาที่ถูกจนเกินไป อย่าเพิ่งตกลง เพราะเห็นว่ามีราคาถูก เราควรพิจารณาหลายด้าน ๆ อย่างวัสดุอุปกรณ์ที่ช่างนำมาใช้ ในบางครั้งที่มีราคาถูก อาจจะเป็นเพราะการเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพก็เป็นไปได้ ส่วนใครที่จะกังวลว่าผู้รับเหมาจะเลือกวัสดุที่ไม่ดี เราก็สามารถเลือกที่จะเป็นฝ่ายซื้อวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดแทนได้เช่นกัน เป็นอีก 1 เทคนิคที่คุณไม่ควรมองข้ามนะคะ

5. สเปคของที่ใช้ในการทำงาน
วัสดุอุปกรณ์ที่ดีมีคุณภาพ จะส่งผลให้งานของเราอยู่ไปอย่างยาวนาน เราสามารถที่จะปรึกษากับผู้รับเหมา หรือขอคำแนะนำในการเลือกซื้อได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้จ้างก็สามารถตกลงกับทางผู้รับเหมา ว่าจะเป็นฝ่ายที่จัดหาสเปคของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานได้เองเช่นกัน เป็นการป้องกันการไม่ซื่อสัตย์ได้อีกด้วย

6. งานที่เหมาะสมกับผู้รับเหมา
ช่างฝีมือบางคน จะมีความถนัดในงานแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เราควรเลือกผู้รับเหมาที่มีช่างฝีมือที่หลากหลาย มีความสามารถ มีความถนัด มีประสบการณ์ ที่จะทำให้เรามั่นใจว่าผลงานที่ออกมา จะตรงตามความต้องการ มีความละเอียด และต้องคำนึงถึงว่างานที่ออกมา จะอยู่กับเราไปอย่างยาวนาน

7. ความรู้ ความชำนาญ
ในการเลือกหาผู้รับเหมา เราต้องการผู้รับเหมาที่มีความรู้ สามารถที่จะตอบคำถามในสิ่งที่เราสงสัยได้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีความรู้ในเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่หากได้รับคำตอบ ได้รับคำแนะนำก็จะทำให้รู้สึกถึงความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจในการเลือกผู้รับเหมาที่มากขึ้น

8. ทัศนคติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เป็นอีก 1 เรื่อง ที่จะต้องนึกถึง ในการจ้างผู้รับเหมาสักงาน คงไม่มีใครที่อยากจะได้ยินว่า “คุณจะมารู้ดีไปกว่าผมได้ยังไง ผมเป็นช่างคุณก็ต้องฟังผมสิ” การที่เราอยากจะต่อเติม ซ่อมแซม หรือว่าสร้างขึ้นใหม่นั้น เราก็ต้องการช่างที่สามารถสื่อสารกันได้ทุก ๆ เรื่อง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังความต้องการของเรา และเราก็รับฟังความคิดเห็นของเขา หลากหลายคนอาจจะคิดว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไร เราเชื่อว่าก่อนที่จะจ้างผู้รับเหมาสักงาน จะต้องมีการพูดคุยมากกว่า 1 ครั้งอย่างแน่นอน ลองสังเกตจากการพูดคุยตรงนี้ดูก็ได้นะคะ

9. ความซื่อสัตย์
เป็นเรื่องที่เราจะต้องคำนึงถึง เพราะผู้รับเหมาที่ดี ก็ควรจะมีความซื่อสัตย์ในงาน ซื่อสัตย์ในที่นี่ คือ ซื่อสัตย์ต่อผู้จ้าง ต่อราคา ต่อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ต่อวิชาชีพ เพราะเมื่อเราจ้างผู้รับเหมาไปแล้ว ผลงานที่ควรได้รับ ก็ควรที่จะเหมาะสมกับงบประมาณที่เราจ่ายไปเช่นเดียวกัน

10. บริการหลังการขาย
เมื่องานจบลงไปแล้ว บริการหลังการขายที่เราจะได้รับ มีอะไรบ้าง การรับประกันต่าง ๆ ความรับผิดชอบ เมื่องานเกิดปัญหาตามมาที่หลัง เราก็สามารถนำข้อนี้ไปคำนวณในการเลือกผู้รับเหมาได้อีกเช่นกัน

10 เทคนิคที่เราได้เอ่ยถึงไป เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่คุณสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจได้อย่างแน่นอน และหากเลือกผลิตภัณฑ์ในการใช้งาน อย่าลืม! นึกถึง ผลิตภัณฑ์จระเข้ นะคะ ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี สะดวกสบาย มีครบทุกความต้องการอย่างแน่นอน

ปรับปรุงบ้าน รีโนเวทบ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร

สิ่งที่ควรรู้ก่อนรีโนเวทบ้าน

การรีโนเวทบ้าน อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเติมเต็มความสุขให้เจ้าของบ้านได้ แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงที่อาจทำให้เสียค่าใช้จ่าย หรือสร้างปัญหาเพิ่มเติมได้เช่นกัน โดยเฉพาะหากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมหรือไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน มาดูกันว่าสิ่งที่เจ้าของบ้านทุกคนควรคำนึงถึงเมื่อวางแผนจะทำการรีโนเวทบ้านเก่าในเบื้องต้นมีอะไรบ้าง

ศึกษากฎหมายการรีโนเวทบ้าน

ก่อนที่จะทำการรีโนเวทบ้านเก่าก็ควรจะต้องศึกษากฎหมายเสียก่อนว่าสิ่งที่ต้องการทำนั้นเป็นการรีโนเวทบ้าน หรือเป็นการดัดแปลงบ้าน เพราะจะส่งผลว่าต้องไปขออนุญาตในการทำหรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมบ้านนั้นมีระบุอยู่ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. การเปลี่ยนโครงสร้างโดยใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิมนั้นไม่ต้องขออนุญาต ยกเว้นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง และโครงสร้างเหล็ก ที่ต้องขออนุญาตทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่เหมือนเดิมหรือไม่ก็ตาม
  2. การต่อเติมที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักแก่โครงสร้างเดิมเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ จะต้องขออนุญาต
  3. การต่อเติมหรือลดพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งเกิน 5 ตารางเมตร โดยมีการเพิ่มหรือลดเสาและคาน จะต้องขออนุญาต
  4. การต่อเติมหรือลดพื้นที่หลังคาเกิน 5 ตารางเมตร โดยมีการเพิ่มหรือลดเสาคาน จะต้องขออนุญาต

นอกจากกฏหมายข้างต้นแล้ว ยังควรดูข้อกฎหมายที่เป็นปัจจุบันอื่นๆ รวมถึงกฎหมายท้องถิ่นมาประกอบในตอนที่จะรีโนเวทด้วย เพราะอาจมีข้อจำกัดอื่นอีก เช่น ตำแหน่งทางเข้าบ้านที่อาจต้องห่างจากถนนหลักมากขึ้น หรือระยะร่นที่เปลี่ยนไป

ตรวจสอบโครงสร้าง และสภาพรอบๆ

โดยปกติก่อนซื้อบ้านมือสองจะมีการตรวจบ้านก่อนโอนอยู่แล้ว แต่เมื่อจะรีโนเวทบ้านก็ควรต้องตรวจสอบโครงสร้าง และสภาพโดยรอบๆ ซ้ำอีกครั้งก่อน โดยเฉพาะกรณีที่เป็นบ้านเก่า เพราะอาจจะมีการต่อเติมอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหากไม่ทันสังเกตแล้วไปต่อเติมซ้ำอาจจะทำให้บ้านไม่ได้มาตรฐานตามโครงสร้างบ้านที่ได้ถูกออกแบบไว้ หรือบ้านอาจอยู่ในระยะอายุการใช้งานที่เสี่ยงต่อความเสื่อมโทรม ซึ่งจะกระทบกับการรีโนเวทได้ด้วย เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ควรตรวจสอบ ได้แก่

  1. ตรวจสอบการต่อเติมเดิมว่ามีหรือไม่ เพื่อที่จะดูว่าหากต่อเติมเพิ่มไปอีกจะต้องขออนุญาตหรือเปล่า โดยนำมาเทียบกับแบบแปลนเดิม
  2. ตรวจรอยร้าวตามอาคาร พื้นและเสาต่างๆ พร้อมกับหาที่มาของรอยร้าวว่าเกิดจากปัญหาอะไร
  3. สังเกตระดับอาคาร เทียบกับถนน และพื้นดินโดยรอบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะตามมา เช่น พื้นทรุด

ซึ่งการตรวจสอบโครงสร้างบ้าน และสภาพแวดล้อมโดยรอบนั้นจะช่วยประเมินค่าใช้จ่ายในการรีโนเวทบ้านได้อย่างคร่าวๆ ด้วย จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยลดความผิดพลาด และช่วยป้องกันไม่ให้งบบานปลาย

กำหนดจุดประสงค์ให้ชัด วางแผนให้รัดกุม

การรีโนเวทบ้านนั้นมีหลายจุดประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูบ้านที่เก่าหรือเป็นการต่อเติมตามความต้องการ ซึ่งแต่ละเป้าหมายก็จะมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติม ของที่ต้องซื้อ และขั้นตอนที่ต้องทำแตกต่างกันไป การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนจะช่วยให้วางแผน และกำหนดงบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้โดยไม่เกิดปัญหาที่อาจจะทำให้ต้องหยุดทำระหว่างทาง

 

แหล่งที่มาของข้อมูล: kasikornbank.com

ข้อดีและลักษณะเด่นของบ้านสไตล์นอร์ดิก

บ้านสไตล์นอร์ดิก (Nordic House Style) เป็นรูปแบบบ้านที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมของยุโรปตอนเหนือ ถือเป็นอีกหนึ่งสไตล์บ้านที่กำลังเป็นที่พูดถึงมาก อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะใครที่ หลงใหล ตกหลุมรัก บ้านดีไซน์สวย เรียบง่าย และชวนผ่อนคลาย รวมถึงการออกแบบที่เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัย Nordic House Style คือสไตล์บ้านในฝันที่หลายๆคนหลงใหลและกำลังมองหาอยู่แน่นอน

นอร์ดิกเป็นสไตล์บ้านแถบคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย โดยประเทศที่อยู่ในกลุ่มนอร์ดิก ได้แก่ สวีเดน, ฟินแลนด์, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์ เดนมาร์ก และเกาะกรีนแลนด์ บ้านแนวนอร์ดิกจะมีเอกลักษณ์ในเรื่องของความอบอุ่น เรียบง่าย เน้นความโปร่งโล่ง และมีจุดเด่นก็คือรูปทรงจั่วคล้ายกับโรงนาในยุโรป เน้นความเป็นธรรมชาติของสีและวัสดุอุปกรณ์ รวมไปถึงประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม การออกแบบบ้านสไตล์นอร์ดิกจึงมักมีด้านที่เป็นกระจกช่วยเพิ่มแสงสว่างและความอบอุ่น ปัจจุบันบ้านสไตล์นอร์ดิกได้มีการประยุกต์และผสมผสาน กับ ทั้งสไตล์มินิมอล สไตล์โมเดิร์น สไตล์ลอฟต์ปูนเปลือย หรือจะไปแนวสไตล์หรูหราก็เป็นที่นิยมอย่างมาก

ข้อดีและลักษณะเด่นของบ้านสไตล์นอร์ดิก (Nordic house Style)

การออกแบบตัวอาคารลักษณะเป็นทรงเรขาคณิตที่ดูเรียบง่าย สบายตา ไม่มีรายละเอียดที่ซับซ้อนหรือเกินความจำเป็น เส้นสายที่สะอาด เป็นเส้นนำสายตาดึงดูดความสนใจ หลังคาทรงจั่วสูง ภายในโปร่งโล่ง สบาย การออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และโดดเด่นด้วยความสวยงาม เน้นช่องแสงจากกระจกในการรับแสงจากธรรมชาติ

การยกจั่วสูงที่ทำให้หลังคาลาดชัน ซึ่งความลาดเอียงในระดับที่มากกว่าปกติจะช่วยให้น้ำฝนไหลลงด้านล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไม่เกิดน้ำขังบริเวณหลังคาจนเกิดการรั่วซึมได้ง่าย นอกจากนี้โครงหลังคาที่สูงยังช่วยให้ภายในตัวบ้านโปร่งโล่ง อากาศร้อนลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงได้ดี หากเสริมช่องระบายอากาศเพิ่มจะเอื้อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ภายในบ้านอยู่เย็นสบายตลอดเวลา

เน้นความเป็นธรรมชาติ “บรรยากาศ” ของความเรียบง่าย สงบ อบอุ่นและผ่อนคลายแก่ผู้อยู่อาศัย มักตกแต่งด้วยโทนสีของธรรมชาติ อาทิ การเลือกใช้โทนสีขาวเป็นสีพื้น, สีเอิร์ธโทนอย่างสีน้ำตาลของไม้ เป็นต้น การเลือกวัสดุตกแต่งผนังที่คุมโทน โดยปูแผ่นไม้ส่วนหนึ่ง หรืออีกด้านหนึ่งปูด้วยแผ่นหิน ซึ่งวัสดุทั้งสองรูปแบบได้แรงบันดาลใจจากวัสดุตกแต่งบ้านตามสไตล์นอร์ดิก สะท้อนถึงอารมณ์อันสุขุม สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและรักในธรรมชาติที่เป็นคุณลักษณ์เด่น ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น

 

รูปภาพจาก Pinterest